top of page

Design für soziale Auswirkungen

D E S I G N   f o r   S O C I A L   I M P A C T S

Design Anthropology
มานุษยวิทยาการออกแบบ

ทำความเข้าใจสถานการณ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

และสร้างสรรค์อนาคตด้วยความร่วมมือ

มานุษยวิทยาการออกแบบ เป็นศาสตร์หนึ่งซึ่งในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาขึ้นจนมีความชัดเจนทั้งด้านแนวคิด กระบวนการค้นหาความรู้ และวิธีการปฏิบัติ ก่อนที่เราจะลงรายละเอียดว่ามานุษยวิทยาการออกแบบคืออะไร เราลองมาดูองค์ประกอบ 2 ส่วนที่ก่อร่างขึ้นมาเป็นมานุษยวิทยาการออกแบบ นั่นคือ “การออกแบบ” และ “มานุษยวิทยา”

“การออกแบบ” เป็นทั้งวิธีการ ความรู้ และเครื่องมือของสังคมสมัยใหม่ซึ่งในปัจจุบันได้แตกสาขาย่อยออกมาแล้วมากมาย เช่น การออกแบบสื่อ การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบอุตสาหกรรม การออกแบบระบบ การออกแบบประสบการณ์ การออกแบบงานบริการ การออกแบบสิ่งปลูกสร้าง การออกแบบนวัตกรรม ไม่ว่าผลงานจากการออกแบบจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้หรือไม่ได้ แต่การออกแบบก็ยังรักษาจุดร่วมของศาสตร์เอาไว้ในฐานะของการเป็นกระบวนการคิด วางแผน และนำความคิดที่มีมาก่อขึ้นเป็นแผนการ ซึ่งมีรูปร่าง โครงสร้าง และหน้าที่ จนได้เป็นผลผลิตซึ่งออกมาสู่การรับรู้ของมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการออกแบบเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์โดยทั่วไป เพียงแต่อาจจะมีความแตกต่างในรายละเอียดในแต่ละสังคมและวัฒนธรรม

ในยุคหลังอุตสาหกรรมช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การออกแบบและนักออกแบบถูกแบ่งประเภทตามความเชี่ยวชาญพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งทำให้การทำงานของนักออกแบบได้ย้ายพื้นที่มาอยู่ในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น เริ่มมีการให้บริการการออกแบบสำหรับเอกชน สร้างกลยุทธ์สำหรับนวัตกรรมทางธุรกิจและการตลาด และผสานการออกแบบเข้ากับการพัฒนาเมืองและชนบท นักออกแบบได้รับการฝึกฝนจากสถาบันที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการออกแบบเฉพาะทาง สังคมสมัยใหม่จึงเต็มไปด้วยคุณค่าที่นักออกแบบได้สร้างขึ้น และการออกแบบได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เป็นจุดกำเนิดลูกคลื่นของการเปลี่ยนแปลงอีกรูปแบบหนึ่งนอกเหนือจากจุดกำเนิดการเปลี่ยนแปลงที่มาจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“มานุษยวิทยา” ในอีกด้านหนึ่งเป็นการศึกษาสังคมและวัฒนธรรมโดยมีพื้นฐานที่ตั้งอยู่บนการทำความเข้าใจบริบทของสังคม เป็นศาสตร์ที่มีพื้นที่เป็นฐานคิดแบบวิชาการรูปแบบหนึ่งตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และเนื่องมาจากศาสตร์นี้ก่อตัวในสังคมตะวันตก ในช่วงเริ่มต้นจึงมีจุดสนใจในการนำมาใช้ศึกษาวัฒนธรรมของกลุ่มคนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกมากกว่า ในปัจจุบันมานุษยวิทยาถูกนำมาใช้ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต ตั้งแต่สังคมของชนเผ่าไปจนถึงสังคมของนักวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าการศึกษานั้นจะมีจุดสนใจอยู่ที่สังคมหรือวัฒนธรรมใด หัวใจสำคัญของมานุษยวิทยาที่ถูกรักษาไว้ก็คือการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (participant observation) ซึ่งผู้สังเกตเข้าไปฝังตัวอยู่ในสังคมที่ต้องการศึกษาเป็นระยะเวลานาน ใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคมนั้นมากเพียงพอที่จะสามารถมองเห็นรายละเอียดจำนวนมากที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของคนในสังคมนั้น ๆ 

หากพิจารณาความแตกต่างระหว่างมานุษยวิทยาและการออกแบบ จะเห็นว่าเป้าหมายของมานุษยวิทยาคือการผลิตความรู้หรือหลักการเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของมนุษย์ในบริบทหนึ่ง ๆ ซึ่งเป็นการอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอาจย้อนกลับไปใช้ข้อมูลจากในอดีต ในทางกลับกัน การออกแบบเป็นการมุ่งหวังและมุ่งมองไปยังอนาคต โดยสร้างสรรค์ผลผลิตหรือกระบวนการที่จะนำไปใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมหรือชุมชนหนึ่ง ๆ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การออกแบบเป็นการเข้าไปแทรกแซง (intervene) กระแสการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันโดยมุ่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

ความแตกต่างอีกด้านหนึ่งระหว่างมานุษยวิทยาและการออกแบบคือ วิธีการทำงานของนักมานุษยวิทยานั้นมักเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ศึกษาวิจัยเพียงคนเดียวหรือใช้นักวิจัยจำนวนไม่มาก ทั้งนี้เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านความจำเป็นซึ่งนักมานุษยวิทยาจะต้องระมัดระวังตนไม่ทำให้การดำรงอยู่ (existence) ของตนเองนั้นส่งผลกระทบมากเกินไปต่อวิถีชีวิตของสังคมหรือชุมชนที่เข้าไปศึกษา การร่วมมือกันของนักมานุษยวิทยาจึงมักเกิดขึ้น ‘หลัง’ การทำงาน ซึ่งเป็นการแบ่งปันและเผยแพร่ข้อมูลที่แต่ละคนค้นพบให้แก่กัน ในขณะที่การทำงานของนักออกแบบนั้นมักมีความร่วมมือเกิดขึ้น ‘ระหว่าง’ การทำงาน โดยเป็นการร่วมกันให้ความเห็นและแบ่งปันเครื่องมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ นักออกแบบ นักลงทุน ผู้ใช้งาน และผู้ที่จะได้รับผลกระทบ 

อีกความแตกต่างระหว่างมานุษยวิทยาและการออกแบบคือ มานุษยวิทยานั้นมีจุดแข็งในด้านการทำความเข้าใจบริบทของสังคมและวัฒนธรรม แต่มานุษยวิทยาโดยพิ้นฐานแล้วไม่ได้มุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในชุมชนหรือในสังคมนั้น ความท้าทายของ “มานุษยวิทยาการออกแบบ” จึงเป็นเรื่องการพยายามพัฒนาเครื่องมือและวิธีการที่จะนำข้อมูลของสังคมหรือชุมชนมาใช้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการ ซึ่งจุดแข็งในด้านการเปลี่ยนแนวคิด (idea) ให้กลายเป็นผลผลิตหรือกระบวนการในการสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นหน้าที่ของการออกแบบนั่นเอง

ในช่วงปลายปี 1970s นักออกแบบจำนวนมากเริ่มสนใจการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานและบริบทของการออกแบบ แต่การทำความเข้าใจผู้ใช้งานในขณะนั้นยังคงเกิดขึ้นผ่านวิธีการสำรวจทางการตลาดและการคาดการณ์อนาคตซึ่งเป็นความคิดที่มาจากผู้จับกระแส (trend) ของชุมชนหรือสังคมโลกในขณะนั้น การจะนำมานุษยวิทยามาใช้ในการออกแบบจึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการเสียใหม่ โดยนักออกแบบจะฝังตัวอยู่ในกลุ่มผู้ใช้งานและใช้ชีวิตแบบเดียวกันร่วมกันภายใต้บริบทของสังคมและวัฒนธรรมที่งานออกแบบนั้นจะถูกนำไปใช้ เพื่อให้มองเห็นรายละเอียดของปรากฏการณ์ในแบบที่การสำรวจภาพกว้างไม่สามารถให้ได้ และสามารถเข้าใจวิถีชีวิตและบริบทของการออกแบบในมุมมองแบบรายบุคคล

มานุษยวิทยาการออกแบบเป็นการนำข้อดีทั้งจากการออกแบบและมานุษยวิทยามาใช้ร่วมกัน โดยนำหลักการ ทฤษฎี และการตีความวัฒนธรรมจากวิธีการทางมานุษยวิทยามาใช้ในการทำความเข้าใจบริบทของสังคมหรือชุมชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ร่วมกับการใช้เครื่องมือด้านการออกแบบในการเสนอความคิด วางแผน และสร้างผลลัพธ์ที่มุ่งหวัง 

มานุษยวิทยาการออกแบบจึงเป็นการผสานเส้นเรื่องของเวลา จากอดีตถึงปัจจุบันและต่อเนื่องไปยังการกำหนดอนาคตของชุมชนและสังคม ทำให้การออกแบบนั้นประกอบขึ้นด้วยความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมที่กำลังออกแบบอย่างจริงแท้มากขึ้น และขับเน้นเสียงของ ‘คนตัวเล็กตัวน้อย’ ให้ได้รับการได้ยิน

 

___________________________

นอร์ท อัครา  เขียน

9 ธันวาคม 2565

ถอดความและสรุปบางส่วนจาก Gunn, W., Otto, T., & Smith, R. C. (Eds.). (2013). Design anthropology: theory and practice. Taylor & Francis.

Aerial View of Playground
bottom of page